วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รู้จักโรคอารมณ์สองขั้ว


    เคยสังเกตอารมณ์คนรอบข้างบ้างไหม บางคนอารมณ์ดีได้ทั้งวันและบางคนก็อารมณ์เสียได้ทั้งวันเช่นกัน

อารมณ์ของคนเราอาจจะขึ้นๆ ลงๆ ได้ในแต่ละวันตามสถานการณ์รอบข้าง แต่สำหรับคนที่ฝึกจิตมาดีแล้ว จะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ไม่ปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ มีอิทธิพลเหนือจิตใจ อย่างไรก็ตาม บางครั้งหากเกิดความผิดปรกติในร่างกาย ก็อาจส่งผลให้อารมณ์ผิดปรกติได้เช่นกัน อย่างเช่น โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ซึ่งเกิดขึ้นจากความผิดปรกติของสมอง
ทำความรู้จักกันสักนิด 
ผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน 2 แบบ แบบแรกมีลักษณะอารมณ์
และพฤติกรรมเป็นแบบ ซึมเศร้า แบบที่สองมีลักษณะคึกคักพลุ่งพล่าน ซึ่งเรียกว่า แมเนีย (Mania) ผู้ป่วยโรคนี้อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงไปจากปรกติเป็นช่วงๆ โดยเป็นแบบซึมเศร้าตามด้วยช่วงเวลาที่เป็นปรกติดี จากนั้นอีกเป็นปีอาจเกิดอาการแบบแมเนียขึ้นมา หรือบางคนอาจเริ่มต้นด้วยอาการแบบแมเนียก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตามด้วยอาการด้านตรงข้ามเสมอไป เช่น อาจมีอาการแบบซึมเศร้า - ปรกติ - ซึมเศร้า - แมเนีย
ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการแสดงออกมาทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โดยในแต่ละระยะจะมีอาการนานหลายสัปดาห์จนอาจถึงหลายเดือนหากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งรายละเอียดของอาการในระยะต่างๆ มีดังนี้
  • อาการในระยะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดจากเดิมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดละคร หรือติดข่าว ก็ไม่สนใจติดตาม อะไรๆ ก็ไม่เพลินใจไปหมด คุณยายบางคนหลานมาเยี่ยมแทนที่จะดีใจ กลับรู้สึกเฉยๆ บางคนจะมีอาการซึมเศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้เป็นว่าเล่น บางคนจะหงุดหงิด ขวางหูขวางตาไปหมด ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย อาการเบื่อเป็นมากจนแม้แต่อาหารการกินก็ไม่สนใจ บางคนน้ำหนักลดฮวบฮาบก็มี บางคนความจำแย่ลง มักหลงๆ ลืมๆ เพราะใจลอย ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจไปเสียหมด และมักมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีใครสนใจไยดีตัวเอง ถ้าตายไปคงจะดี จะได้พ้นทุกข์เสียที หากญาติหรือคนใกล้ชิดได้ยินผู้ป่วยพูดแบบนี้ให้พยายามพูดคุย รับฟังสิ่งที่เขาเล่าให้มากๆ
  • อาการในระยะแมเนีย ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่ง จะรู้สึกมั่นใจในตัวเองมาก รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ความคิดไอเดียต่างๆ แล่นกระฉูด เวลาคิดอะไรจะมองข้ามไป 2 - 3 ช็อตจนคนตามไม่ทันการพูดจาจะลื่นไหล คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี เรียกว่าเจอใครก็เข้าไปทักไปคุย เห็นใครก็อยากจะช่วย ช่วงนี้ผู้ป่วยจะหน้าใหญ่ใจโต ใช้จ่ายเกินตัว ถ้าเป็นคุณตาคุณยายก็บริจาคเงินเข้าวัดจนลูกหลานระอา ถ้าเป็นเจ้าของบริษัทก็จัดงานเลี้ยง แจกโบนัส มีโครงการต่างๆ ในหัวมากมาย พลังงานเหลือเฟือนอนดึกเพราะมีเรื่องให้ทำเยอะแยะไปหมด ตีสี่ก็ตื่นแล้ว ตื่นมาก็ทำโน่นทำนี่เลย ด้วยความที่สนใจสิ่งต่างๆ มากมาย ผู้ป่วยโรคนี้จะมีจิตใจวอกแวก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะทำงานมาก แต่ก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ความยับยั้งชั่งใจมีน้อยมาก เรียกว่าพอนึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที หากมีใครมาห้ามจะโกรธรุนแรง อาการในระยะนี้หากเป็นมากๆ จะพูดไม่หยุด คุยเสียงดัง เอาแต่ใจตัวเอง และโกรธรุนแรง ถ้ามีคนขัดขวางอาจถึงขั้นอาละวาด
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็น 
อาการระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเป็นหลังมีเรื่องกระทบกระเทือนใจ เช่น สอบตก
เปลี่ยนงาน มีปัญหาครอบครัว แต่จะต่างกว่าปรกติตรงที่ผู้ป่วยจะเศร้าเป็นระยะเวลานาน ทำงานไม่ได้หรือขาดงานบ่อยๆ

ส่วนอาการระยะแมเนียมักเกิดขึ้นเร็วและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนภายใน 2 - 3 สัปดาห์อาการจะเต็มที่
อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวจนญาติรับไม่ไหวต้องพามาโรงพยาบาล อาการในครั้งแรกๆ จะเกิดหลังมีเรื่องกดดัน แต่หากเป็นหลายๆ ครั้งก็มักเป็นขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรมากระตุ้นเลย

นอกจากนั้น ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแมเนียจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปรกติ แต่จะมองว่า
ช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดีหรือใครๆ ก็ขยันกันได้ ในขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะพอบอกได้ว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม 

ในระยะซึมเศร้า หากคนใกล้ชิดสนใจมักสังเกตไม่ยาก เพราะผู้ป่วยจะซึมลง ดูอมทุกข์ แต่อาการแบบ
แมเนียจะบอกยาก โดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่อาการยังไม่มาก เพราะดูเหมือนจะเป็นแค่คนขยันอารมณ์ดีเท่านั้นเอง แต่ถ้าสังเกตจริงๆ ก็จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขา
อยู่กับโรคอย่างไรให้มีความสุข 
การปฏิบัติตัวที่สำคัญของผู้ป่วยโรคนี้ ได้แก่
  • การรักษาความสม่ำเสมอในการดำเนินกิจวัตรพื้นฐานประจำวัน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการนอน พบว่าการนอนน้อยติดต่อกันหลายวันทำให้อาการแกว่งไกวได้ จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาหลีกเลี่ยงการนอนดึกหรือดื่มแอลกอฮอล์
  • ในช่วงที่เริ่มมีอาการแมเนีย ให้เลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ หาหลักควบคุมการใช้เงิน หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์มากๆ ให้คนใกล้ชิดและญาติคอยเตือนเมื่อเห็นว่าตนเองมีพฤติกรรมที่อาจไม่เหมาะสม
  • ในช่วงซึมเศร้า เลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ เช่น การลาออกจากงาน ที่สำคัญ อย่ากดดันตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนเดิม ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องการการพักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากเกินไปกลับจะยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง
  • ความเข้าใจจากคนใกล้ชิดและญาติมีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษาให้ตนเองกลับสู่สภาพปรกติ นอกจากนั้นญาติยังมีส่วนสำคัญในการสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกลับเป็นซ้ำหรือไม่ เพราะในช่วงแรกที่อาการยังไม่มาก ผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไป
โรคอารมณ์สองขั้วเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปรกติของสมองและสามารถรักษาให้หายได้ หากไม่แน่ใจ
ว่าตนเองเป็นโรคนี้หรือไม่ควรจะไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา ส่วนผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็ควรจะติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุดนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น